การจะทำธุรกิจอะไรให้สำเร็จได้นั้นจะต้องเริ่มจากแผนธุรกิจ เพราะการที่คุณวางแผนธุรกิจไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้คุณรู้จักเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจจะเป็นไปในทางไหน กลุ่มลูกค้าเป็นใคร หรือว่าร้านของคุณจะทำเงินได้ยังไง คุณจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ง่าย ๆ หากมีแผนธุรกิจค้าปลีกไว้ในมือ
ดังนั้นในบทความนี้เราจึงจะพาเจ้าของร้านค้าปลีกขนาดเล็ก มาทำความรู้จักแผนธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น เหตุผลที่ควรมี ไปจนถึงการทำแผนธุรกิจค้าปลีก เพื่อให้เจ้าของร้านเข้าใจกันแบบแจ่มแจ้งและนำไปปรับใช้กับธุรกิจค้าปลีกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
แผนธุรกิจคืออะไร ?
ภาพจาก Pixabay
แผนธุรกิจ (Business Plan) คือ เครื่องมือในการก่อตั้งธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ จะเรียกว่าเป็นคู่มือที่จำเป็นและขาดไม่ได้เลยก็ว่าได้ เพราะแผนนี้มีการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจไว้อย่างละเอียด ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของไฟล์เอกสาร หรือการเขียนมือก็ได้ และเจ้าแผนนี้ก็ประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญดังนี้ :-
- กระบวนการคิด
- การพิจารณา
- การตัดสินใจ
- ขั้นตอนการก่อตั้ง
- สินค้าและบริการ
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- กลยุทธ์การตลาด
- การแข่งขัน
- การวางแผนการเงิน
- จุดแข็ง-จุดอ่อน
- โอกาส
- อุปสรรค/ปัญหา
สิ่งเหล่านี้ช่วยกำหนดทิศทางการทำธุรกิจของคุณและถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
แผนธุรกิจค้าปลีกคืออะไร ?
ภาพจาก Freepik
“แผนธุรกิจค้าปลีก (Retail Business Plan) คือ รูปแบบของเอกสารหรือการเขียนที่ร่างข้อมูลจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก จึงไม่ต่างจากแผนธุรกิจทั่วไปสักเท่าไหร่ เพียงแต่เจาะจงที่ร้านค้าปลีกเท่านั้น”
ยังไงก็ตาม แผนธุรกิจและแผนธุรกิจค้าปลีกนั้นจะไม่มีความตายตัว และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เพราะฉะนั้นแผนที่ว่านี้จึงเป็นเหมือนไอเดียคร่าว ๆ ที่ให้ผู้ประกอบการและหุ้นส่วนได้รู้ถึงหลักการกับแผนการดำเนินการของร้านค้าปลีกเท่านั้น
แผนธุรกิจจำเป็นสำหรับร้านค้าปลีกยังไง ?
ภาพจาก Pixabay
“แล้วทำไมจะต้องเขียนแผนธุรกิจร้านค้าปลีกให้ยุ่งยากด้วยล่ะ ?
ก็แค่เริ่มเปิดร้านค้าปลีก หรือว่าทำธุรกิจไปเลยไม่ได้หรอ ?”
นั่นก็เพราะว่าธุรกิจค้าปลีกนั้นมีการแข่งขันสูงแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ่อย ๆ ซึ่งบางทีก็อาจจะทำให้รับมือกับปัญหาผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ดังนั้นในฐานเจ้าของร้านค้าปลีก คุณจึงจำเป็นต้องแจงรายละเอียด และร่างภาพปัญหาไว้ล่วงหน้า แล้วยิ่งถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจที่จำเป็นต้องกู้เงินกับธนาคารแล้ว แผนธุรกิจค้าปลีกที่ดีจะช่วยให้การกู้เงินอนุมัติง่ายขึ้น
และนอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เราก็มีอีก 3 ข้อดีหลักของการเขียนแผนธุรกิจค้าปลีกมาบอกต่อด้วย ซึ่งก็คือ
1. เจ้าของธุรกิจร้านค้าปลีกรู้ว่าจะต้องทำอะไร
อย่างที่เราได้พูดถึงกันตั้งแต่เริ่มต้น ว่าแผนธุรกิจค้าปลีกจะช่วยให้เจ้าของร้านและผู้ประกอบการเห็นภาพของร้านได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เพราะขั้นตอนในการเริ่มต้นทำธุรกิจค้าปลีกมีหลายส่วนด้วยกัน เมื่อมีแผนธุรกิจแล้ว คุณก็จะรู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน ควรให้ความสำคัญกับส่วนไหนก่อน หรือว่าต้องทำส่วนไหนไปพร้อม ๆ กัน เช่น
- ต้องใช้เงินทุนในการทำธุรกิจค้าปลีกเท่าไหร่ ?
- รูปแบบของร้านควรเป็นแบบไหน ?
- จะขายสินค้าอะไรบ้าง ?
- แผนการตลาดเป็นยังไง ?
การเขียนแผนธุรกิจจึงเป็นเหมือนแนวทางที่ช่วยให้คุณเห็นภาพชัดเจน และเมื่อถึงเวลาลงมือทำจริง ๆ ก็จะก้าวผ่านอุปสรรคได้ง่าย ๆ เพราะคุณมีแผนสำรองไว้เรียบร้อยแล้ว
2. ทดสอบแนวคิดทางธุรกิจได้อย่างยอดเยี่ยม
การจะเขียนแผนธุรกิจได้นั้น คุณจำเป็นต้อง
- ค้นคว้าหาข้อมูลโดยละเอียด
- เขียนถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับธุรกิจ
- บอกข้อดี-ข้อเสียของแนวคิดทางธุรกิจ
แล้วก็ต้องร่างข้อมูลต่าง ๆ ออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะในฐานะผู้ประกอบการ คุณจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้รู้ว่าควรไปต่อกับแนวคิดในการทำธุรกิจที่มี หรือว่าต้องเปลี่ยนแผนใหม่
3. สร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดหุ้นส่วนได้เป็นอย่างดี
แผนธุรกิจค้าปลีกสำคัญเป็นอย่างมากเมื่อคุณต้องการกู้เงินธนาคาร หาหุ้นส่วน และหานักลงทุน ซึ่งแผนธุรกิจสำหรับกู้เงินธนาคารนั้น จะต้องมี 3 หัวข้อหลัก ๆ คือ
- ความเป็นมาของธุรกิจ
- จุดประสงค์ในการกู้และวงเงินที่ต้องการ
- แผนธุรกิจ
ซึ่งประเด็นที่ทางธนาคารจะพิจารณาก็แบ่งได้ 3 ข้ออีกเช่นกัน ได้แก่
- ความเป็นไปได้ของธุรกิจ/กิจการ/โครงการ: เนื่องจากธนาคารจะดูแนวโน้มของความสำเร็จของกิจการ เช่น ดูแผนการตลาดว่าครอบคคลุมหรือไม่ สภาพการแข่งขันเป็นอย่างไร และมีโอกาสที่จะทำยอดขายถึงเป้าหรือไม่ เป็นต้น เพื่อจะดูว่าคุณมีความสามารถในการจ่ายหนี้คืนธนาคารมาก-น้อยแค่ไหน
- มูลค่าการลงทุน: วงเงินสินเชื่อที่คุณต้องการกู้เหมาะสมกับธุรกิจที่จะทำ หรือเหมาะกับธุรกิจที่ทำอยู่หรือไม่ รายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ขนาดของกิจการ โอกาสในการเติบโต เงินทุนที่คุณมี รวมทั้งสัดส่วนการลงทุนของคุณกับทางธนาคาร
- แผนสำรอง: แผนธุรกิจของคุณมีความยืดหยุ่นแค่ไหน คุณมีแผนสำรองหรือเปล่า แล้วร้านค้าปลีกของคุณจะปรับตัวกับสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ยังไง
ดังนั้นการเขียนแผนธุรกิจค้าปลีกออกมาจึงมีส่วนสำคัญในการแสดงศักยภาพของธุรกิจต่อธนาคาร หุ้นส่วน หรือนักลงทุนของคุณเป็นอย่างมาก เพราะหากพวกเขาเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและเห็นว่าร้านของคุณมีแววประสบความสำเร็จ คุณก็จะได้รับความร่วมมือจากพวกเขาได้ไม่ยาก
5 วิธีการเขียนแผนธุรกิจค้าปลีกที่ดีและมีประสิทธิภาพ
ภาพจาก Pixabay
เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญของการมีแผนธุรกิจกันไปแล้ว คราวนี้เรามาดูดีกว่าว่าการเขียนแผนธุรกิจค้าปลีกที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
1. ภาพรวมของการดำเนินงาน
การเขียนอธิบายถึงภาพรวมของธุรกิจและการดำเนินงานจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจคร่า ว ๆ เกี่ยวกับร้านค้าปลีกของคุณ ทั้งที่มาของธุรกิและเป้าหมายในการเปิดร้าน โดยในส่วนนี้คุณจะต้องเขียน 3 สิ่งสำคัญดังต่อไปนี้ :-
1.1 อธิบายภาพรวมของธุรกิจ
เขียนบอกเล่าเรื่องราวและรายละเอียดของธุรกิจสัก 1-2 ย่อหน้า เช่น หากคุณจะเปิดร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงก็อาจจะเขียนว่า
“Fashion For You ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงสำหรับสาว ๆ อายุ 18 ปีขึ้นไป เน้นสไตล์ที่หลากหลายและราคาที่เข้าถึงง่าย
ร้านของเราจะเป็นร้านเสื้อผ้าแฟชั่นที่มอบความสนุกในการแต่งตัวให้กับสาว ๆ แห่งแรกในเขต XXX และมีเป้าหมายที่จะเติบโต X% ภายใน X ปี”
1.2 ภารกิจและวิสัยทัศน์
ในส่วนนี้จะพูดถึงจุดประสงค์ แรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำธุรกิจ เช่น สำหรับร้านเสื้อผ้าผู้หญิง Fashion For You ที่เราได้ยกตัวอย่างไป ก็อาจจะเป็น
“เพื่อให้สาว ๆ ได้สนุกกับการแต่งตัวด้วยสไตล์ที่หลากหลายในราคาเป็นกันเอง”
1.3 จุดประสงค์ในการทำธุรกิจ
ลิสต์จุดประสงค์หลักในการทำธุรกิจ หรือเป้าหมายที่คุณอยากทำให้สำเร็จออกมาเป็นข้อ ๆ เช่น
- เพื่อเปิดร้านเป็นทางเลือกแก่สุภาพสตรี ให้ลูกค้าสะดวกสบายเมื่อมาซื้อเสื้อผ้าที่ร้าน และรู้สึกสวยมั่นใจเมื่อใส่สินค้าของร้าน
- เพื่อให้สุภาพสตรี มีโอกาสแต่งตัวในสไตล์ของตัวเอง ในราคาไม่แพง
- เพื่อสร้างกำไรจากเงินทุน 50% หลังจากเปิดร้าน 1 ปี
2. บทสรุปของธุรกิจ
หลังจากที่เขียนอธิบายภาพรวมของธุรกิจไปแล้ว ก็ต้องเขียนสรุปธุรกิจเพื้อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ เจ้าของร้านค้าปลีกและผู้ประกอบการจะต้องเขียนถึง
2.1 โครงสร้างบริษัทและกรรมสิทธิ์
ไม่ว่าคุณจะเปิดร้านค้าปลีกด้วยตัวเอง เป็นเจ้าของร้านคนเดียว หรือว่ามีหุ้นส่วน คุณจำเป็นต้องเขียนสิ่งนี้ไว้ในแผนธุรกิจค้าปลีกของคุณ
โดยบอกถึงโครงสร้างบริษัท การดำเนินการทางกฎหมาย เป็นเจ้าของร้านคุณเดียวหรือเปล่า เปิดเป็นบริษัทห้างร้าน หรือว่ามีผู้ถือหุ้นร่วมลงทุนทั้งหมดกี่คน อย่าลืมระบุไว้ให้ชัดเจน
2.2 ทำเล/ที่ตั้งร้าน
อย่าลืมบอกทำเลหรือที่ตั้งร้านไว้ในแผนธุรกิจของคุณด้วย เพื่อให้หุ้นส่วนหรือธนาคารรู้ว่าร้านของคุณตั้งอยู่ที่ไหน และอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการเปิดร้านค้าปลีกของคุณหรือเปล่า เช่น อยู่ใจกลางเมือง นอกเมือง ย่านธุรกิจ ฯลฯ
2.3 สินค้า
คุณจะต้องบอกถึงสินค้าที่จะขายไว้ในแผนธุรกิจด้วย เช่น บอกประเภทสินค้า จุดเด่น รวมถึงแหล่งผลิตและแหล่งจัดซื้อด้วย ระบุให้ชัดเจนว่าคุณมีโรงงานผลิตสินค้าเอง หรือจะซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์มาขายอีกที
ภาพจาก Pixabay
3. การวิจัยการตลาด
สำหรับแผนธุรกิจร้านค้าปลีกส่วนนี้ คุณจะต้องบอกถึงการวิจัยการตลาดและลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยเป็นการร่างขนาดตลาด ประชากร และหลักจิตวิทยาในการขาย เพื่อให้รู้ว่าใครคือลูกค้าที่จะซื้อสินค้าของคุณ ดังนี้ :-
3.1 ขนาดตลาด
ขนาดตลาด (Market Size) คือ การวิจัยตลาดเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นในแผนธุรกิจส่วนนี้คุณจึงต้องเขียนถึงศักยภาพของตลาดและจำนวนผู้ซื้อสินค้า
3.2 คู่แข่ง
นอกเหนือจากส่วนประกอบอื่น ๆ ในแผนธุรกิจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีในแผนก็คือ คู่แข่ง คือคุณต้องดูว่า
- คู่แข่งที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันมีกี่เจ้าและมีใครบ้าง ?
- ร้านคู่แข่งอยู่ตรงไหนบ้าง ?
จำไว้ว่า
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”
ดังนั้นศึกษาคู่แข่งให้ละเอียดและหากลยุทธ์ให้ร้านของคุณอยู่เหนือเกมให้ได้
3.3 เทรนด์ตลาด
จากการศึกษาตลาดและสภาพการแข่งขันแล้ว คุณจะต้องคาดการณ์เทรนด์ตลาดด้วย คือดูว่าทิศทางของตลาดจะเป็นไปในทางไหน แล้วร้านคุณจะปรับตัวยังไงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามา หรือคำนวณว่า
- ร้านของคุณจะทำกำไรได้เท่าไหร่ในอีก 1 ปี ?
- ในอีก 5-10 ปี ร้านของคุณจะขยายหรือเติบโตไปแบบไหน ?
3.4 ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ระบุลักษณะหรือคุณสมบัติของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย จะได้ทำกลยุทธ์การตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น
- เพศ
- อายุ
- รายได้
- การศึกษา
- ที่อยู่
- ที่ทำงาน
4. แผนการตลาด
ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องบอกถึงวิธีการบุกตลาดและกลยุทธ์การขาย ซึ่งควรประกอบไปด้วย
4.1 ตำแหน่งของธุรกิจในตลาด
บอกช่องทางตลาดที่คุณต้องการบุก โดยอาจจะเขียนกราฟเพื่อให้เห็นตำแหน่งของธุรกิจคุณในตลาดอย่างชัดเจน ดูว่าคุณอยู่ตำแหน่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ และนี่คือตัวอย่างกราฟแสดงตำแหน่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ในภาพแสดงให้เห็นว่าสินค้าของธุรกิจดังกล่าวแพงกว่าคู่แข่ฝ แต่ก็มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งคุณสามารถใช้ข้อดีที่ว่านี้ไปเป็นจุดขายทางการตลาดได้ และสำหรับเจ้าของร้านค้าปลีกก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี
4.2 ความได้เปรียบในการแข่งขัน
ในส่วนนี้คุณจะต้องพูดถึงความพิเศษ ความโดดเด่น รวมถึงลักษณะเฉพาะตัวของร้านและสินค้า ระบุในแผนธุรกิจให้ชัดไปเลยว่าร้านของคุณต่างจากคู่แข่งยังไง และคุณวางแผนที่จะเอาชนะคู่แข่งแต่ละเจ้าไว้ยังไง
4.3 กลยุทธ์แบรนด์/ร้าน
แผนธุรกิจสำหรับกลยุทธ์แบรนด์หรือร้าน ควรบอกถึงรายละเอียดของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่คุณจะใช้ในการทำธุรกิจ เช่น
- น้ำเสียงในการพูดคุยกับลูกค้า เช่น ทางการ กึ่งทางการ หรือสบาย ๆ
- ภาษาที่ใช้ เช่น การเล่นคำในการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น ร้านขายของชำที่จะทำให้คุณลืมการช้อปปิ้งแบบเดิม ๆ หรือการตัวเลขเพื่อสื่อถึงประสิทธิภาพและดึงดูดใจลูกค้า อาทิ ร้านขายเสื้อผ้าอันดับ 1 เรื่องสไตล์และราคา
นอกจากนี้ก็อาจจะมีเรื่องของสี โลโก้ และภาพเพื่อสื่อถึงตัวตนของร้านค้าปลีกด้วย
4.4 กลยุทธ์ราคา
แผนธุรกิจที่ดีจะต้องพูดถึงโครงสร้างราคาสินค้า และบอกถึงที่มาที่ไปของราคาสินค้าแต่ละรายการ ระบุต้นทุนในการจัดซื้อและกำไรที่จะได้ไว้อย่างละเอียด เช่น
- คุณวางแผนที่จะขายสินค้าแต่ละประเภทในราคาเท่าไหร่
- ทำไมถึงต้องเป็นราคานี้
- กำไรสุทธิของแต่ละรายการเป็นเท่าไหร่
4.5 กลยุทธ์ในการจัดโปรโมชั่น
ข้อนี้ก็ไม่ยุ่งยากจนเกินไป เพียงแต่คุณต้องเขียนในแผนธุรกิจและแจกแจงกลยุทธ์การจัดโปรโมชั่นร้านค้าปลีกของคุณ เช่น
- จะใช้ช่องทางไหนในการบอกต่อโปรโมชั่น อาทิ SMS อีเมล หรือโซเชียลมีเดีย
- จะใช้โปรโมชั่นไหนเพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้มาที่ร้าน เป็น Loyalty Program โปรแกรมลูกค้าสมาชิก ซื้อ 1 แถม 1 หรือว่าโปรโมชั่นไหน
5. กระบวนการการขายและการมอบประสบการณ์ร้านค้าปลีก
เมื่อพูดถึงวิธีการเรียกลูกค้าเข้าร้านค้าปลีกไปแล้ว สำหรับแผนธุรกิจในขั้นตอนต่อไป คุณจะต้องบอกถึงแผนการและวิธีที่จะทำให้ลูกค้าซื้อของในร้าน เช่น
- จะให้บริการลูกค้าอย่างไรเพื่อให้พวกเขาประทับใจและอยากซื้อสินค้ามากขึ้น
- ลูกค้าจะเห็นอะไรอย่างแรกเมื่อเดินเข้ามาในร้าน
- จะจัดสินค้าอย่างไรเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสซื้อสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไอเท็มที่พวกเขาต้องการมากขึ้น
- จะเป็นลูกค้าที่มาเดินดูของให้ซื้อสินค้าในร้านได้ยังไง
ภาพจาก Pixabay
มาถึงเรื่องของแผนการจัดการ ซึ่งสำหรับแผนธุรกิจร้านค้าปลีกในส่วนนี้ คุณจะต้องให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้อ่านเกี่ยวกับพนักงานที่จะจ้างและโครงสร้างการจัดการและบริหารงานที่วางไว้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ
5.1 โครงสร้างองค์กร
เป็นการร่างโครงสร้างองค์กรและจัดระบบตามลำดับขั้น เช่น ผู้จัดการร้านเป็นใคร พนักงานคนไหนรายงานกับใคร หรือความรับผิดชอบของพนักงานแต่ละคน เป็นต้น
5.2 แผนการจ้างพนักงาน
อธิบายว่าร้านค้าปลีกของคุณจะมีพนักงานตำแหน่งไหนบ้าง หรือคุณจำเป็นต้องว่าจ้างพนักงานในส่วนไหน ต้องการพนักงานกี่คน และถ้ารับสมัครพนักงานใหม่ แต่ละตำแหน่งจะต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง
สำหรับแผนธุรกิจค้าปลีกในส่วนนี้ คุณจะต้องพูดถึงกฎและนโยบายการทำงาน ฐานเงินเดือนของพนักงาน โบนัส เงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของพนักงานให้ละเอียด
6. แผนการเงิน
การเขียนแผนการเงินในแผนธุรกิจค้าปลีกถือเป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะคุณจะต้องร่างไว้ว่า ร้านของคุณจะมีรายได้จากส่วนไหนบ้าง คุณจะทำยอดขายได้เท่าไหร่หลังจากเปิดร้าน โดยในส่วนนี้จะมี 4 หัวข้อที่ควรรวมไว้ดังนี้ :-
6.1 เงินลงทุนสำหรับเปิดร้าน
ระบุจำนวนเงินลงทุนที่จะใช้ในการเปิดร้าน ซึ่งต้องบอกรายละเอียดของแต่ละส่วนให้ชัดและเข้าใจง่าย อาทิจะใช้เงินเท่าไหร่ในการเช่าที่, ซื้อของตกแต่งร้าน, ซื้อสินค้าเข้าร้าน, จ้างพนักงาน ฯลฯ
6.2 การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
จุดคุ้มทุน (Break-even Point) คือ จุดที่ธุรกิจไม่ได้กำไร ไม่ขาดทุน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จุดเท่าทุน เป็นจุดที่รายได้เท่ากับต้นทุน ซึ่งถ้านึกภาพตามไม่ออกก็ดูตัวอย่างแผนธุรกิจสำหรับจุดคุ้มทุนได้ดังนี้ :-
- ต้องขายสินค้าเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน ?
- ต้องขายสินค้าชิ้นละเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน (ไม่มีกำไร ไม่ขาดทุน) ?
- ต้องได้ยอดขายเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน ?
6.3 การคาดการณ์ยอดขายล่วงหน้า
เป็นการคำนวณและคาดการณ์ยอดขายของร้านในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้จะพูดถึงกำไรและขาดทุนด้วย เช่น
- ร้านค้าปลีกของคุณจะมีรายได้เท่าไหร่หลังจากเปิดได้ 1 ปี ?
- แล้วอีก 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ร้านของคุณจะทำกำไรได้เท่าไหร่ ?
6.4 การเงิน/กระแสเงินสดของธุรกิจ
กระแสเงินสด คือ เงินสดหรือทรัพย์สินที่หมุนเวียนในร้านค้าปลีกของคุณ เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก อย่าลืมเขียนตารางอธิบายยอดเงินสดในบัญชีที่ร้านของคุณจะมีเมื่อเปิดร้าน โดยอาจจะชี้แจงเป็นรายเดือนก็ได้ จากนั้นก็ใช้ยอดขายที่คาดการณ์ไว้มาคำนวณกระแสเงินสดหรือการเงินในร้าน
นอกจากนี้คุณก็สามารถดูตัวอย่างแผนธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอื่น ๆ สำหรับผู้ประกอบการได้หลากหลายที่นี่
ภาพจาก Pixabay
ข้อคิดปิดท้ายสำหรับแผนธุรกิจค้าปลีก
หากคิดจะเปิดร้านหรือทำธุรกิจนั้น คุณจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเยอะอยู่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อมีข้อมูลแน่นแล้ว คุณก็จะเขียนแผนธุรกิจค้าปลีกออกมาได้อย่างครอบคลุมและสมบูรณ์แบบที่สุด ทำให้จัดการร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแผนธุรกิจที่ว่านี้ก็จะต้องบอกถึงตัวธุรกิจ, การวางแผนการตลาด, แผนการจัดการ, รวมถึงแผนการเงินอย่างละเอียด เพราะแผนที่รัดกุมนี่แหละที่จะทำให้ร้านค้าปลีกของคุณประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
หรือถ้าอยากให้ร้านค้าปลีกเป็นไปอย่างราบรื่น ก็ต้องมีตัวช่วยการจัดการร้านที่ทำงานอย่างอัตโนมัติ ใช่แล้ว ! เราหมายถึงระบบ POS นั่นแหละ เพราะโปรแกรมนี้มีดีกว่าที่คุณคิดและช่วยให้คุณบริหารธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างระบบ POS ของสโตร์ฮับก็จะมีฟีเจอร์มาให้ครบทั้งนับ-ตัดสต๊อกอัตโนมัติ รายงานยอดขาย ระบุสินค้าขายดี บริหารจัดการพนักงาน ทั้งยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ อีกเพียบ ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าร้านไหน ๆ ก็ใช้เจ้าระบบนี้กันหมดแล้ว ดังนั้นหากคุณคิดจะเปิดร้าน ก็ต้องลองดู แล้วจะรู้ว่าชีวิตผู้ประกอบการไม่ได้ยากอย่างที่คิด !