Burnout หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นอาการของคนที่ทำงานหนัก เครียดสะสม เหนื่อยเรื้อรัง หรือทำงานที่ไม่ได้รัก อาการนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการนั้นมีจะความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เพราะต้องรับมือกับปัญหาและเผชิญความท้าทายตลอดเวลา ซึ่งบางทีก็อาจจะเหนื่อยล้าจนแทบไม่อยากพลิกตัว
ดังนั้นก่อนจะทำงานหนักไปจนถึงขั้น Burnout หรือหมดไฟจนไม่อยากทำอะไร เรามาดูวิธีเลี่ยงภาวะนี้กันดีกว่า เจ้าของธุรกิจอย่างคุณจะได้จัดการกับความเครียด หาจุดสมดุลให้กับตัวเองได้อย่างเหมาะสม แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้นในปี 2020 และปีต่อ ๆ ไป
Burnout คืออะไร ?
ภาพจาก Pixabay
Burnout หรือ เบิร์นเอาท์ คือ ภาวะความเหน็ดเหนื่อยทางจิตใจและอารมณ์ ที่เกิดจากการทำงานหนักจนเกินไปและมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เฉยชากับทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จนไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น เราจึงเรียกอาการ Burnout ว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน
อาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน
ภาพจาก Freepik
รู้ไหมว่าคุณอาจจะมีอาการของภาวะหมดไฟในการทำงานแบบไม่รู้ตัว ? ถ้าไม่อยากให้ถึงจุดที่สายเกินแก้ เรามาดูสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ภาวะ Burnout กันดีกว่า ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ด้าน ดังนี้
1. สัญญาณเตือนด้านอารมณ์
- เหนื่อยล้า หมดแรง ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น
- รู้สึกหดหู่และซึมเศร้า อะไร ๆ ก็ดูอึมครึมไปหมด
- อารมณ์แปรปรวนบ่อย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
- หงุดหงิดและโมโหง่าย อะไรนิดหน่อยก็เป็นเรื่องใหญ่
- ไม่พอใจกับงานที่ทำ ไม่แฮปปี้กับความสำเร็จที่ทำได้
2. สัญญาณเตือนด้านความคิด
- หวาดระแวง กลัวนั่นนี่ วิตกกังวลตลอดเวลา
- มองโลกในแง่ร้าย และมองคนอื่นในแง่ลบ
- มักจะโทษคนอื่นเสมอ
- ชอบเลี่ยงปัญหา และไม่จัดการแก้ไข
- สงสัยในความสามารถและศักยภาพของตัวเอง
3. สัญญาณเตือนด้านพฤติกรรม
- ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมทำงานให้เสร็จ
- ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงานหรืออะไรทั้งนั้น
- หุนหันพลันแล่น มักตัดสินใจปุบปับ
- ไม่อยากตื่นไปทำงาน หรือไปสายติดต่อกัน
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือไม่มีความสุขในการทำงาน
วิธีเลี่ยง Burnout และป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงาน
ภาพจาก Pixabay
ในช่วงที่ชีวิตเร่งรีบ พร้อม ๆ กับต้องทำงานหนัก และรับมือกับหลาย ๆ อย่าง เจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการเช่นคุณย่อมมีความเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งบางทีก็เครียดสะสมและเหนื่อยเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว
คุณคงไม่อยากปล่อยให้ตัวเองไปถึงจุดที่ไม่อยากทำอะไรเลยใช่ไหม ?
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการเลี่ยงอาการ Burnout และป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานก็คือ คุณต้องหาจุดสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตให้ได้ ซึ่งวิธีสุดเวิร์กที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจอย่างคุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและเครียดน้อยลงก็มีดังนี้ :-
1. แบ่งเวลาพักผ่อน
ภาพจาก Unsplash
การนอนหลับพักผ่อนคือ ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด แค่นอนครบ 8 ชั่วโมงหรือเข้านอนเร็วนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรโฟกัส โดยจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นพบว่า คนเราควรจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการนอนด้วย คือ ต้องนอนหลับสนิทและพักผ่อนเพียงพออย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งนี้ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราโดยตรง
แล้วจะทำยังไง คุณถึงจะมีเวลานอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอล่ะ ? ง่าย ๆ เลย แค่ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ :-
- จัดตารางนอนไว้ – วางแผนการนอนหลับพักผ่อนของคุณและเข้านอนตามเวลาที่กำหนดเป็นประจำทุกวัน เช่น ถ้ากำหนดว่าต้องเข้านอนเวลา 22.30 น. ก็ต้องเข้านอนเวลานี้ทุกวัน
- งีบระหว่างวัน – คุณสามารถงีบหลับระหว่างวันสัก 10 นาทีเพื่อเติมพลังและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่ห้ามงีบเกิน 30 นาทีเป็นอันขาดเพราะอาจจะนอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้
- ห้ามมีข้ออ้าง – แม้ว่าจะมีงานเยอะแค่ไหน ก็ต้องรีบจัดการให้เสร็จก่อนถึงเวลาเข้านอน เพราะถ้าหากคุณไม่มีวินัย การนอนหลับพักผ่อนของคุณก็จะไม่มีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลอะไรต่อตัวคุณ ขอบอกเลยว่างานนี้ไม่มีหยวน
- ห้ามจ้องหน้าจอก่อนเข้านอน – จอคอม จอมือถือ และจอโน้ตบุ๊ค มีแสงสีฟ้าหรือ Blue light ที่ทำให้รู้สึกตื่นตัวและยังระงับการผลิตเมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนจากสมองที่ถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นเวลามีแสงสว่างน้อยหรือไร้แสง สมองจะหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมาเวลากลางคืนและทำให้เรารู้สึกง่วง เพราะฉะนั้นถ้าอยากนอนหลับสนิท ห้ามเล่นอุปกรณ์ดังกล่าวก่อนเข้านอนเป็นอันขาด ควรเลิกเล่นอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือ 20 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- ห้ามดื่มกาแฟหลัง 4 โมงเย็น – หากคุณเป็นคนที่นอนหลับยากอยู่แล้ว ไม่ควรดื่มกาแฟหลัง 4 โมงเย็น เพราะจะทำให้สมองตื่นตัวและนอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้
เมื่อพักผ่อนเพียงพอแล้ว คุณก็จะรู้สึกมีแรง สดชื่น และกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่เหนื่อยล้าเหมือนที่เคย
2. ทานอาหารที่มีประโยชน์
ภาพจาก Unsplash
รู้หรือไม่ว่าอาหารที่ทานมีผลโดยตรงต่อพลังงานของเรา ? และอาหารบางชนิดก็ทำให้เราเหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นลักษณะของอาหารและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องที่คุณควรหลีกเลี่ยงนั้น ได้แก่
- อาหารแปรรูปหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปลงสภาพวัตถุดิบ
- อาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
นอกจากนี้การทานอาหารไม่ตรงต่อเวลาและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็ส่งผลให้คุณมีอาหารเหนื่อยล้าและไม่มีแรงได้
ส่วนกาแฟและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน จะทำให้ระบบประสาทและสมองของเราตื่นตัว นั่นหมายความว่าเมื่อมีเรื่องเครียดหรือกังวลใจ คุณก็จะเครียดมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะฉะนั้น ลองเปลี่ยนจากจิบกาแฟ มาเป็นชาคาโมมายล์ หรือชาสมุนไพรและชาผลไม้ดีกว่า
หรือถ้ากลัวหิวเวลาทำงาน ก็ให้ตุนของว่างมีประโยชน์อย่างถั่ว, อัลมอนด์, กล้วย, แอปเปิ้ล และไข่ต้ม ซึ่งนอกจากจะให้พลังงานในการทำงานแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของคุณอีกด้วย
3. รู้ลิมิตตัวเอง
ภาพจาก Freepik
อีกหนึ่งวิธีป้องกันภาวะหมดไฟ หรืออาการ Burnout ที่ดีที่สุดก็คือ คุณต้องรู้ตัวเองว่าขีดจำกัดหรือลิมิตของคุณอยู่ตรงไหน อย่างในฐานะเจ้าของธุรกิจ คุณไม่สามารถที่จะจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวคุณเอง ยิ่งต้องมานั่งคำนวณยอดขาย นับสต๊อกสินค้า จัดการพนักงาน หรือวางแผนโปรโมชั่นร้านเองแล้ว ก็ยิ่งเครียดและปวดหัวมากขึ้นไปอีก
ดังนั้นลองหาคนที่ไว้ใจได้มาช่วยดูแลร้านของคุณ หรือจะหาตัวช่วยอย่าง ระบบ POS โปรแกรมขายหน้าร้านที่ทำรายงานยอดขาย นับสต๊อกสินค้า และช่วยสอดส่องดูแลพนักงานให้คุณได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังทำงานได้โดยอัตโนมัติ คราวนี้คุณก็ดูแลร้านได้ทุกที่ทุกเวลาและไม่ต้องมานั่งลงรายการทุกอย่างด้วยตัวเองแล้ว
เมื่อคุณรู้ลิมิตของตัวเองและมีทางออกในการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิภาพแล้ว คุณก็จะเหนื่อยล้าจากการทำงานน้อยลง เครียดน้อยลง แล้วก็มีบาลานซ์หรือจุดสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น
นอกจากนี้ อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนและวางแผนเที่ยวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานด้วย เพราะการได้เที่ยวกับคนในครอบครัวหรือคนที่คุณรักจะช่วยเติมพลังจากวันที่แสนเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี
4. ลิสต์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน
ภาพจาก Unsplash
คุณลดสามารถลดความเสี่ยงของภาวะหมดไฟในการทำงาน หรืออาการ Burnout ได้ง่าย ๆ แค่วางแผนงานล่วงหน้าว่าในแต่ละวันต้องทำอะไร ซึ่งวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพก็ได้แก่
- จัดลำดับความสำคัญของงานให้ดี เช่น งานไหนที่คุณต้องทำทันที งานไหนที่ต้องใช้เวลาในการทำ งานไหนที่ให้คนอื่นทำแทนได้ หรือว่างานไหนที่คุณไม่จำเป็นต้องทำ
- มอบหมายงานให้กับพนักงานแต่ละคน เมื่อคุณแบ่งงานให้กับพนักงานไว้แล้ว คราวนี้ก็ไม่ต้องมานั่งทำเอง ทั้งยังไม่ต้องมานั่งเครียดว่าจะหาใครมาทำ
- ดูในส่วนของการปรับปรุง เช็คยอดขายและการจัดการร้านในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อดูว่าคุณจำเป็นต้องปรับปรุงส่วนไหน จากนั้นก็จะวางแผนสิ่งที่ต้องทำได้อย่างง่ายดาย
แล้วทำไมการวางแผนงานถึงช่วยให้คุณเครียดน้อยลงล่ะ ?
นั่นก็เพราะว่า การวางแผนงานไม่ได้แค่ช่วยให้คุณรู้สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณแบ่งเวลาให้กับงาน ครอบครัว และตัวคุณเองง่ายขึ้นด้วย อีกอย่างเจ้าของธุรกิจที่ไม่วางแผนงานล่วงหน้าก็มักจะมีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท กินอาหารก็ไม่อร่อย ทั้งยังไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควร
เพราะฉะนั้น ทำไมไม่วางแผนงานและแบ่งเวลาใช้ชีวิตบ้างล่ะ ลองกำหนดเวลาทำงาน จำกัดไปเลยว่าวันนี้จะทำกี่ชั่วโมง แล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปออกกำลังกาย ทานข้าวกับคนในครอบครัว หรือทำกิจกรรมคลายเครียด เท่านี้คุณก็จะไม่ต้องแบกความเครียดไว้ตลอดเวลาแล้วก็เหนื่อยล้าจากการทำงานน้อยลงแล้ว
5. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ
ภาพจาก Freepik
หากคุณรู้ตัวว่าเริ่มเครียดกับงานหรือทำงานหนักมากเกินไป และไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับปัญหาแบบไหนถึงจะเวิร์ก ก็ต้องมีที่ปรึกษาทางธุรกิจและขอความช่วยเหลือจากพวกเขา เพราะพวกเขาคือคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและประสบการณ์ในวงการมานาน ดังนั้นจึงช่วยรับฟังปัญหา คอยให้คำแนะนำ และหาทางออกให้กับคุณได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีร้านค้าปลีกหรือร้านอาหาร หากคุณต้องการความช่วยเหลือ ที่ปรึกษาทางธุรกิจของคุณจะคอยให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดี
และนี่ก็คือ 4 ข้อดีหลัก ๆ ของการมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ
- ธุรกิจของคุณจะแข็งแกร่งขึ้น – ในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงเช่นนี้ คุณอาจจะต้องปรึกษากลยุทธ์การตลาด รวมถึงขอคำแนะนำในการวางแผนทีมงาน เพื่อให้ธุรกิจของคุณแข็งแกร่งและอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้
- ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น – หากคุณมีอุปสรรคในการทำธุรกิจ ที่ปรึกษาของคุณจะยื่นมือเข้ามาช่วยและลดความยุ่งยากในการบริหารร้านได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากเครียดจนเกินไป ก็ต้องมองหาที่ปรึกษาดี ๆ สักคน ลองคิดดูสิว่าเมื่อคุณสามารถบริหารจัดการร้านได้ตามที่คุณวางแผนไว้ คุณจะรู้สึกผ่อนคลายมากแค่ไหน แล้วคุณก็จะลดความเสี่ยงของอาการ Burnout ได้มากยิ่งขึ้น
- มีแนวทางในการทำธุรกิจ – ที่ปรึกษาทางธุรกิจจำเป็นมากสำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ เพราะหากคุณไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ก็อาจจะบริหารงานไปในทางที่ผิดได้ ดังนั้นเชื่อเถอะว่าผู้ช่วยอย่างที่ปรึกษาทางธุรกิจจะช่วยแนะแนวทางและชี้นำให้ธุรกิจของคุณไปในทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอน จำไว้ว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
- ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก – ที่ปรึกษาทางธุรกิจคือผู้เชี่ยวชาญที่แน่นไปด้วยความรู้และประสบการณ์ คุณจึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพราะสามารถนำประสบการณ์และบทเรียนจากพวกเขามาปรับใช้ในธุรกิจของคุณได้ แล้วพวกเขายังช่วยวิเคราะห์แนวโน้มกับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจคุณได้เป็นอย่างดีด้วย
สรุป
วิธีเลี่ยงอาการ Burnout และป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานที่ดีที่สุดก็คือ การหาสมดุลให้กับการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเจ้าของธุรกิจอย่างคุณต้องจัดการกับความเครียดและทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น
เริ่มจากการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, ทานอาหารที่มีประโยชน์, รู้ขีดจำกัดตัวเอง, วางแผนงานแต่ละวันล่วงหน้า รวมถึงขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาทางธุรกิจ แล้วคุณก็จะไม่เหนื่อยล้าจากการทำงานมากเหมือนแต่ก่อน
เมื่อมีความเครียดน้อยลง ชีวิตก็มีความสุขมากขึ้น แล้วคุณก็จะปลอดภัยจากอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน พร้อมมีแรงในการทำธุรกิจต่อไปในปี 2020 และปีต่อ ๆ ไป