หลังจากช่วงล็อคดาวน์ COVID-19 เราเห็นแล้วว่า สินค้าจำเป็นอย่างของกินของใช้ เป็นสินค้ายอดนิยมที่ทุกครัวเรือนต่างก็ต้องซื้อตุนไว้เพราะไม่อยากออกนอกบ้านไปเสี่ยงกับเชื้อ COVID-19 บางครัวเรือนจึงเลือกที่จะซื้อสินค้าออนไลน์ แม้ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือว่ามินิมาร์ทก็ตาม
และเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ทำให้ร้านขายของชำเหล่านี้ตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานมากยิ่งขึ้น ทำให้ร้านขายของชำและร้านขายสินค้าจำเป็นเหล่านี้ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ายุค COVID-19 ซึ่งเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทั้งสองฝ่าย และเพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีที่สุด ร้านขายของชำจำเป็นต้องมีวิธีปรับตัวดังนี้ :-
1. เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
วิธีปรับตัววิธีแรกเลยก็คือ การทำ Social Distancing ร้านโชห่วย ร้านของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ฯลฯ จะต้องมีนโยบายให้ลูกค้าเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1.5-2 เมตร โดยทำเครื่องหมายเว้นระยะห่างระหว่างรอคิวเข้าร้านให้ชัดเจน รวมถึงจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านแต่ละครั้งด้วย ร้านจะได้ลดความแออัดและช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ COVID-19
2. สนับสนุนให้ลูกค้าสวมหน้ากากเพื่อความปลอดภัย
ร้านขายของชำควรมีป้ายประกาศหน้าร้านและแจ้งลูกค้าตามช่องทางต่าง ๆ (รวมถึงเพจเฟสบุ๊ค ไอจีร้าน และไลน์) ระบุให้ชัดเจนว่าลูกค้าที่ไม่สวมหน้ากากจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร้าน เพราะแม้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในไทยจะลดลง แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของลูกค้าทุกคนและร้านเอง ร้านขายของชำต้องมีมาตรการที่รัดกุมที่สุดและทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันด้วย ไทยของเราจึงจะจับมือกันฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปได้
3. ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าทุกคนก่อนเข้าร้าน
นอกจากตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานก่อนเข้างานแล้ว ก็ต้องตรวจวัดไข้ลูกค้าก่อนเข้าไปซื้อสินค้าด้วย ซึ่งแน่นอนว่าต้องเคร่งครัด ไม่หละหลวม เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในร้านขายของชำเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงมาหรือเปล่า ดังนั้นควรตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าทุกคน เรียกว่า ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า
4. เตรียมเจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ล้างมือไว้จุดต่าง ๆ ของร้าน
นโยบายนี้เป็นสิ่งที่ร้านขายของชำ ร้านโชห่วย ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือว่ามินิมาร์ท จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ต้องมีเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ไว้บริเวณทางเข้าร้านให้ลูกค้าทำความสะอาดมือก่อนเข้าไปซื้อของ และจัดเตรียมไว้ตามจุดต่าง ๆ ในร้าน มีสบู่ล้างมือให้พนักงานในร้าน
5. ทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในร้าน
เพราะไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวได้นานถึง 1-3 วัน ทั้งติดต่อกันง่ายผ่านการสูดลมหายใจเอาละอองน้ำมูกน้ำลายหรือ Droplet ที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และการสัมผัส (Contact) กับละอองนั้น ๆ ทางร้านจึงควรมีแนวทางทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ และก็ต้องแจ้งเวลาเปิด-ปิดร้านลูกค้าก่อนปิด-เปิดร้านในการฆ่าเชื้อเพื่อทำความเข้าใจตรงกันและมอบประสบการณ์ที่สะดวกสบายที่สุดให้กับลูกค้า
ภาพจาก Freepik
6. มี Self-checkout หรือเครื่องชำระเงินด้วยตนเอง
องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนแล้วว่า เงินสดอย่างธนบัตรและเหรียญ อาจะเป็นพาหะของการแพร่เชื้อ COVID-19 ชั้นเยี่ยม เนื่องจากเงินสดที่เราใช้กันนั้นมีการเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็ว ทั้งยังแนะนำให้จ่ายเงินด้วยบัตรและระบบออนไลน์แทน ดังนั้นร้านขายของชำจึงควรมี Self-checkout คือ เครื่องชำระเงินด้วยตนเองไว้บริการลูกค้า
ทั้งนี้หลักการทำงานของเครื่องชำระเงินด้วยตนเอง (Self-checkout) นี้ง่ายมาก เพียงแค่ลูกค้าสแกนสินค้า เลือกวิธีจ่ายเงิน และจ่าย เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย ! ซึ่งที่ไทยตอนนี้ก็มีหลายแห่งที่มี Self-checkout เช่น Tops Supermarket, SCB Gourmet Market, Home Fresh Mart, Big C และ 7 Eleven บางสาขา วิธีนี้สามารถลดการสัมผัสระหว่างพนักงานและลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องพะวง ไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงินนาน ๆ ทั้งยังสนุกกับการช้อปปิ้งซื้อของกินของใช้มากยิ่งขึ้นไปอีก
7. บริการจ่ายเงินด้วย QR Code บัตรเครดิต/เดบิต และ Ewallet
เช่นเดียวกับข้อที่แล้ว เนื่องจากการจ่ายด้วยเงินสดนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ดังนั้นร้านจึงควรมีทางเลือกการจ่ายเงินด้วย QR Code บัตรเครดิต/เดบิต และ Ewallet ไว้ที่จุดชำระเงินหรือแคชเชียร์ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างพนักงานและลูกค้า นอกจากนี้ยังประหยัดเวลาในการซื้อ-ขายของร้านและลูกค้าได้ด้วย
8. มีบริการสั่งซื้อออนไลน์และให้ลูกค้ามารับสินค้าที่ร้าน
เราเชื่อว่าร้านขายของชำหลายร้านมีบริการให้ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์และมีทางเลือกให้ลูกค้ามารับที่ร้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากร้านไหนยังไม่เริ่ม ก็ถึงเวลาแล้ว เพราะวิธีนี้สะดวกและลูกค้าก็ถูกใจสุด ๆ เนื่องจากลูกค้าไม่ต้องออกบ้านมาเสี่ยงกับเชื้อโรคเป็นเวลานาน ๆ แค่สั่งซื้อบนเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ ก็มีคนเลือกของให้ จากนั้นก็เดินทางมารับสินค้าที่ร้าน และกลับบ้านได้เลย สะดวกสบายแบบนี้ ลูกค้าคนไหนก็ชอบ จริงไหม ? ที่สำคัญร้านยังลดปริมาณลูกค้าในร้านได้เป็นอย่างดีด้วย เรียกว่าแก้ปัญหาได้ดีสุด ๆ
9. เดลิเวอรี่ ส่งของถึงที่อยู่ลูกค้า
ต้องยอมรับว่าบริการเดลิเวอรี่มาแรงมากขึ้นหลายเท่าตั้งแต่ COVID-19 ระบาด เพราะนอกจากจะมีคนเลือกสินค้าและแพ็คของให้เรียบร้อยแล้ว ลูกค้าแทบไม่ต้องออกบ้านให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเลย เพียงแค่สั่งซื้อสินค้า ระบุเวลาการจัดส่ง และแจ้งจุดวางสินค้าให้ทางผู้จัดส่งรู้ เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว
ส่วนทางร้านก็แค่เลือกพาร์ทเนอร์โลจิสติกส์มืออาชีพที่มีมาตรการส่งของที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือโดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19
10. ขายเฉพาะสินค้าคุณภาพดีและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ
นอกจากมาตรการที่คุมเข้มและความสะดวกสบายใจการช้อปปิ้งแล้ว สินค้าคุณภาพดีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อของที่ร้านขายของชำของคุณอีก ยิ่งยุคนี้มีการแข่งขันเยอะ คุณยิ่งต้องคัดสรรสินค้าอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ซีเรียล อาหารจานด่วน หรือสินค้าจำประเภทไหนก็ต้องเป็นของดีมีคุณภาพเท่านั้น
นอกจากนี้ก็อาจจะนำสินค้าที่มีเรื่องราวน่าสนใจอย่างสินค้าจากชุมชนในท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ออร์กานิคที่ปราศจากสารเคมีมาวางขายในร้านขายของชำของคุณ เช่น ผัก-ผลไม้ที่ปลูกโดยคนในชุมชนและกล้วยสด ๆ จากสวน เป็นต้น จากนั้นก็จัดวางให้สวยงามน่าซื้อและตกแต่งด้วยวัสดุที่สื่อถึงท้องถิ่นอย่างฟางและเครื่องจักสาน เท่านี้ก็มัดใจลูกค้าได้แล้ว เพราะช่วงนี้ใคร ๆ ก็อยากสนับสนุนร้านโปรดและคนในพื้นที่ทั้งนั้น
นี่คือ 10 วิธีปรับตัวสำหรับร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท ให้ตรงกับความต้องการและตอบโจทย์ลูกค้ายุค COVID-19 ซึ่งร้านค้าปลีกและสถานที่บริการต่าง ๆ อย่างร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของเล่น ร้านเสริมสวย คลินิกความงาม ฯลฯ ก็สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน แล้วลูกค้าจะมั่นใจในการซื้อของกับร้านคุณมากยิ่งขึ้น และทางร้านเองก็จะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งในเรื่องของการป้องกันกันแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19