หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยก็ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เซไปตาม ๆ กัน ซึ่งเราต่างก็รู้ดีว่าธุรกิจ SMEs นี้เปรียบเสมือนฟันเฟืองของเศรษฐกิจ หาก SMEs ล้ม ระบบเศรษฐกิจของไทยเราก็จะดำเนินไปข้างหน้าไม่ได้เช่นกัน
หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ธนาคาร รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ จึงออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ช่วยลดดอกเบี้ย ปล่อยสินเชื่อ และมีมาตรการรองรับอีกมากมายเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจกันต่อไป
หัวข้อสำคัญ
- กระทรวงการคลัง: มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19 ระยะที่ 1-3
- สภาอุตสาหกรรม: นโยบาย Local Economy กับ 5 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วงวิกฤต COVID-19
- ธนาคารแห่งประเทศไทย: 4 มาตรการช่วยเหลือ SMEs พร้อมเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ช่วง COVID-19
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย: มาตรการและโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
- ธนาคารและสถาบันทางการเงิน: มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19
1. กระทรวงการคลัง: มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19 ระยะที่ 1-3
หลังจากที่เศรษฐกิจไทยของเราเจอพิษ COVID-19 ไป หลายหน่วยงานก็ไม่นิ่งนอนใจและเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งทางฝั่งของกระทรวงการคลังเองก็มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ 3 ระยะด้วยกัน เป็นการเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระ และมุ่งเน้นช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม
มาตรการเยียวยาระยะที่ 1 ออกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563
ภาพจากกระทรวงการคลัง
แบ่งมาตรการเป็น 2 ด้านด้วยกันคือ เพิ่มสภาพคล่อง และ ลดภาระ
เพิ่มสภาพคล่อง:
- สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ลบ. – อัตราดอกเบี้ย 2% 2 ปี สินเชื่อไม่เกิน 20 ลบ. ต่อราย
- พักต้นเงิน ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้แก้ลูกหนี้ฯ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้
- สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของประกันสังคม วงเงินสินเชื่อรวม 30,000 ลบ. ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี
- คืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% (เม.ย. – ก.ย.63)
- เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก กรณียื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต ได้รับคืนภายใน 15 วัน ส่วนกรณียื่นแบบปกติ ได้รับคืนภายใน 45 วัน
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี 2563 กรมบัญชีกลางได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมีการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ
ลดภาระ:
- หักเพิ่มภาษีดอกเบี้ย จ่ายจาก 1 เท่าเป็น 1.5 เท่า (Soft Loan 150,000 ลบ.)
- บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และคืนค่าประกันการใช้ไฟ
- ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ม.33 จาก 5% เหลือ 4% ม.39 จาก 9% เหลือ 7%
- ไม่ปลดแรงงาน หักรายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า
- บรรเทาค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
มาตรการเยียวยาระยะที่ 2 ออกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563
ภาพจากกระทรวงการคลัง
ยังคงมาตรการเป็น 2 ด้านคือ เพิ่มสภาพคล่อง และ ลดภาระ
เพิ่มสภาพคล่อง:
- สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ลบ.ต่อราย วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ลบ. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ลบ. ดอกเบี้ย 3% 2 ปีแรก
ลดภาระ:
- ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 จากเดิม พ.ค. 63 ออกไปเป็นภายใน 31 ส.ค. 63 และ ภ.ง.ด. 51 จากเดิม 31 ส.ค. 63 ออกไปเป็นภายใน 30 ก.ย. 63
- ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน
- ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีสถานบริการออกไป 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 63 ให้เสียภาษี 15 ก.ค. 63
- ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 13 ของเดือนถัดไป เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา COVID-19 ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่ใช้รักษาและป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงช่วงกันยายน 2563
- ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-Bank) ให้เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลเช่าซื้อ Leasing ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 64
มาตรการเยียวยาระยะที่ 3 ออกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563
ภาพจากกระทรวงการคลัง
ในส่วนของระยะที่ กระทรวงการคลังได้จัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาแก้ไขวิกฤตการณ์ COVID-19 และมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ คือ
- พ.ร.ก. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs 500,000 ลบ. สินเชื่อใหม่ 500,000 ลบ. อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ลบ. วงเงิน 500,000 ลบ. ธพ. และ SFIs พักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกแบี้ย) 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ลบ.
ทั้งนี้ยังมี พ.ร.ก. กู้เงินเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ พร้อมกับ พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 400,000 ลบ. ด้วย
2. สภาอุตสาหกรรม: นโยบาย Local Economy กับ 5 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วงวิกฤต COVID-19
หลังจากที่มีการหารือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จากผลกระทบ COVID-19 ระหว่างภาครัฐและเอกชน ก็ได้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs เร่งด่วน ดังนี้ :-
2.1) มาตรการด้านภาษี
- ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SME 3 ปี ทุกธุรกิจ (ปีภาษี 63-65) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling
- ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน
- ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ในปี 2563 โดยไม่จำกัดเพดาน
- ปรับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภทเป็นอัตราเดียว คือ 1% เฉพาะปี 63
2.2) มาตรการด้านการเงิน
- สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80%
- สถาบันการเงินปรับลดระยะเวลาพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร จาก 3 ปี เหลือ 1 ปี
- ขอให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในการจัดตั้ง Private Equity Trust ภายใต้กำกับของ กลต. โดยเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจโรงแรมที่มีปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
2.3) มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน
- ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 63
- ขอให้ยกเลิกการคิดไฟฟ้าตามเกณฑ์การใช้กระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ (Demand Charge) จนถึงสิ้นปี 2563 โดยคิดเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง
- ขอให้พิจารณาคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจ SMEs ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ด้วย เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจช่วงวิกฤติ
- ชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป 1 ปี
2.4) มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน
- ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน
- ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ (Work Permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าว ไป 6 เดือน
- ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยขอให้รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและยังมีการผลิตอยู่บางส่วน
2.5) มาตรการด้านอื่น
- ให้รัฐประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs
- เลื่อนการบังคับใช้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA)
- ขอขยายสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐออกไป 4 เดือน
- ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ Online ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ
- กกร. ได้จัดตั้ง E-Commerce Platform เพื่อช่วยอุตสาหกรรมไทย โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ
- จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้แก่ SMEs โดยภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 3 เท่า
ทั้งนี้ ส.อ.ท. หรือสภาอุตสาหกรรมประเทศไทยยังส่งเสริมเรื่องการผลักดัน Local Economy ที่เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศเพื่อชดเชยการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวด้วย และไทยก็จะเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีนโยบายแนวนี้ ในส่วนของภาครัฐก็จะเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การขนส่ง (Logistics) ไปจนถึงขั้นตอนการแจกจ่ายสินค้าโดยใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นการสร้าง New Normal ให้กับประเทศไทยของเรา
***ขอขอบคุณข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
3. ธนาคารแห่งประเทศไทย: 4 มาตรการช่วยเหลือ SMEs พร้อมเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ช่วง COVID-19
ภาพจาก RYT9
ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเร่งหามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ SMEs ในไทยจนมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา 4 ข้อ ซึ่งได้แก่
3.1) มาตรการเลื่อนชำระหนี้: เลื่อนกำหนดชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทเป็นเวลา 6 เดือนเป็นการทั่วไป
มาตรการนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs มีสภาพคล่องตัวยิ่งขั้น โดยธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) ไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถเลื่อนกำหนดชำระหนี้ทั้งเงินต้นและเงินดอกโดยไม่ถือเป็นการผิดนัด และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
3.2) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ: สนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
รัฐบาลเป็นฝ่ายรับภาระดอกเบี้ย 6 เดือนแรกและชดเชยความเสียหายบางส่วน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงิน แต่อย่างไรก็ตาม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มาตรการนี้ไม่รวมบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวงเงินที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายสามารถกู้ได้นั้นอยู่ที่ 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 หากผู้ประกอบการ SMEs ท่านไหนสนใจ สามารถขอสินเชื่อได้ที่ธนาคารที่เป็นลูกค้าและมีวงเงินสินเชื่ออยู่
3.3) มาตรการจัดตั้งกองทุน: จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
เนื่องจากการชะงักของเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนในไทยมียอดคงค้างราว 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของ GDP ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนให้ทำงานได้ตามปกติ โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการออมของประชาชนในวงกว้างและป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาลุกลามกระทบเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม
3.4) มาตรการลดการนำส่ง FIDF Fee: ลดการนำส่ง FIDF Fee ที่เรียกเก็บจากสถาบันการเงินจาก 0.46% ของฐานเงินฝากเป็น 0.23%
สำหรับมาตรการลดอัตรานำส่งเงินสมทบ FIDF Fee หรือกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF) นี้มีเป้าหมายให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้ทันที
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย: มาตรการและโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
ในส่วนของ ธพว. หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเองก็ไม่รอช้าที่จะออกมาตรการสู้โควิด-19 “ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม” สำหรับลูกค้า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งลูกค้าของ ธพว. สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ :-
- ไปที่หน้าเว็บ
- เมื่อเจอหน้าต่างป๊อปอัพขึ้นมา คลิกเลือก มาตรการสู้โควิด-19 “ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม”
- กรอกข้อมูลเพื่อตรวจสอบ หากเป็นบุคคลธรรมดาใช้เลขที่บัตรประชาชน แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลให้กรอกเลขทะเบียนการค้า/เลขทะเบียนนิติบุคคล
เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีหน้าต่างรายละเอียดปรากฏขึ้นมาให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไป
5. ธนาคารและสถาบันทางการเงิน: มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19
เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ธนาคารและสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ก็ตอบรับนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง พร้อมกับมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19 ออกมาซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียดเล็กน้อย แต่จุดประสงค์หลักก็คือ ช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs และลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจให้ฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปได้ เช่น
ธนาคารกสิกรไทย
ภาพจากธนาคารกสิกรไทย
- พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยอัตโนมัติ สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
- ในส่วนของสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง สามารถกู้ได้สูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี นาน 2 ปี พร้อมฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรกตามนโนบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ลูกค้าสามารถยื่นกู้ภายใต้โครงการนี้จนถึง 22 ตุลาคม 2563 หรือวงเงินโครงการหมด
วิธีขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยา COVID-19 สำหรับลูกค้าธนาคารกสิกรไทย
- เว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทย: มาตรการแบ่งเบาภาระทางการเงินให้คนไทยเบาใจ
- LINE: @kbanklive > เลือก “มาตรการช่วยเหลือ COVID-19” หรือพิมพ์ @help
- K-Contact Center: 02-8888888
- K-Biz Contact Center: 02-8888822
สามารถติดต่อได้ตั้งแต่จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ธนาคารกรุงไทย
ภาพจากธนาคารกรุงไทย
- พักชำระหนี้เงินต้น นานสุด 12 เดือน สำหรับวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan)
- พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนโดยอัตโนมัติ สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท
- ขยายเวลาชำระหนี้ในส่วนของตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) รวมถึงสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) เป็นเวลาสูงสุดถึง 6 เดือน
- ปล่อยสินเชื่อกรุงไทย ต้านภัยโควิด-19 มีการอัพเดตของทางธนาคารกรุงไทยในเรื่องของสินเชื่อเพื่อต่อสู้ COVID-19 วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 2% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก ฟรีค่าธรรมเนียม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน 4 ปี
- สินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้าน สามารถพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้สูงสุด 3 เดือน
- สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง สำหรับกลุ่มลูกค้าที่วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท กู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
วิธีขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาของธนาคารกรุงไทย
- เว็บไซต์ธนาคารกรุงไทย: www.krungthai.com/covid19
- โทร: 02-111-1111 (โทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง)
- ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ
สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563
ธนาคารไทยพาณิชย์
ภาพจากธนาคารไทยพาณิชย์
- สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย จากข้อมูลวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ทางธนาคารไทยพาณิชย์มีมาตรการให้ลูกค้าที่มียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาทพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน และสามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
- พักชำระเงินและดอกเบี้ย นาน 6 เดือนโดยอัตโนมัติให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
- สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง สำหรับกลุ่มลูกค้าที่วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท กู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ข้อมูลนี้อัพเดตเมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา
วิธีขอรับความช่วยเหลือและแจ้งความประสงค์กับธนาคารไทยพาณิชย์
- เว็บไซต์: scbsme.scb.co.th/
- แจ้งผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์
- SCB Business Call Center: 02-722-2222
- ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ
สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน – 30 กันยายน 2563
นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีโครงการพักชำระเงินต้นและขยายเวลาเงินกู้สูงสุด 12 เดือน สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2563 ด้วย
หากคุณเป็นลูกค้าของธนาคารอื่น ๆ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม หรือแจ้งความประสงค์ได้ที่ :
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลและมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากแหล่งต่าง ๆ นี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่าน ซึ่งเมื่อมีมาตรการรองรับจากทั้งฝั่งรัฐบาล เอกชน และสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่นนี้แล้ว เราเชื่อว่าผู้ประกอบการ SMEs ในไทยของเราจะมีเงินทุนหมุนเวียนและเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ง่ายขึ้น ตลอดถึงสามารถปรับตัว พร้อมวางแผนตั้งรับในเรื่องของการบริหารกิจการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเราก็เชื่อว่าผู้ประกอบการ SMEs ในไทยทุกคนจะก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบ COVID-19 ไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง ทางสโตร์ฮับของเราขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ