6 สิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องพิจารณาก่อนเปิดร้านขายของ
อย่างที่เรารู้กันดีว่าค้าปลีกยุคใหม่จะต้องมีการผสมผสานกันระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสำหรับใครที่คิดจะเปิดร้านขายของในตอนนี้ก็ยังคงต้องมีทั้งหน้าร้านและเว็บขายของออนไลน์จึงจะมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากที่สุด อีกอย่างแม้จะมีเทรนด์ขายของออนไลน์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ก็ใช่ว่าค้าปลีกออฟไลน์จะสูญพันธ์ไปเสียทีเดียว นั่นก็เพราะว่ายังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ชอบเดินช้อปปิ้งตามร้านต่าง ๆ และรู้สึกอุ่นใจเมื่อได้จับต้องหรือลองสินค้าด้วยตนเอง
ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังตัดสินใจเปิดร้านขายของอยู่ และยังไม่รู้ว่าต้องทำหรือระวังอะไรบ้างจึงจะเปิดร้านได้อย่างประสบความสำเร็จ ต้องทำยังไงถึงจะขายดี มีกำไร หรือแม้กระทั่งทำให้ลูกค้าติดใจและอยากกลับมาซื้อของที่ร้านอีก วันนี้เราก็มี 6 สิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ควรพิจารณาก่อนเปิดร้านขายของมาฝากด้วย ได้แก่
1. พิจารณาค่าเช่า
ภาพจาก Unsplash
แน่นอนว่าคุณจะต้องเช่าที่ขายของหากไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง ไหนจะต้องเลือกทำเล หาที่ปล่อยเช่า หรือหาดูว่ามีที่ไหนปล่อยล็อคขายของบ้าง ซึ่งแม้จะได้ทำเลที่คิดว่าดีที่สุด แต่บางทีก็อาจสะดุดเพราะพิษเศรษฐกิจหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เพราะฉะนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงการเซ็นสัญญาระยะยาว จะได้ไม่มีข้อผูกมัดมากเกินไปตั้งแต่เริ่มเปิดร้านขายของ
ทั้งนี้อย่าลืมคำนวณค่าเช่า ยอดขาย และกำไรไว้ล่วงหน้าด้วย จะได้วางแผนเปิดร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คำนวณให้ละเอียดทั้งราคาที่จะขายสินค้า ราคาค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ลองเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วคุณจะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น
2. คาดการณ์ปริมาณลูกค้า
ภาพจาก Pixabay
ดูสิว่าทำเลที่คุณจะเปิดร้านขายของนั้นเหมาะสมมาก–น้อยเพียงใด สินค้าที่จะขายตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่นั้นหรือเปล่า ปริมาณลูกค้าที่จะเข้าร้านอยู่ที่เท่าไหร่ หรือว่าต้องขายสินค้าไหนร้านค้าของคุณถึงจะโดดเด่นและได้รับความสนใจจากลูกค้า อย่าใช้ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินเป็นอันขาด
จากการศึกษาของ MIT Center for Digital Business นั้นพบว่า บริษัทที่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจสามารถทำผลงานได้ดีกว่า 4% และทำกำไรได้มากกว่าถึง 6% เพราะฉะนั้นก่อนเปิดร้านควรศึกษาพฤติกรรมลูกค้าในพื้นที่เพื่อให้มีข้อมูลและสถิติ จะได้นำมาวิเคราะห์ว่า คุณควรขายสินค้าแบบไหนจึงจะโดนใจลูกค้าที่สุด หรือต้องให้บริการอะไรจึงจะขายของได้กำไรและมีโอกาสรอดในวงการค้าปลีกมากที่สุด
3. รู้ขั้นตอนการทำงานอย่างถี่ถ้วน
ภาพจาก Pixabay
หากคิดจะเป็นเจ้าของกิจการแล้ว คุณต้องทำงานให้หนักขึ้นเพราะนี่คือร้านของคุณ คุณไม่สามารถมีรายได้ที่แน่นอนเหมือนมนุษย์เงินเดือน ฟังดูอาจจะน่ากลัว แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากตั้งใจจริง ๆ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องคิดเสมอว่าการเปิดร้านขายของครั้งนี้คือธุรกิจที่คุณจะต้องดูแลและพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้ร้านค้าของคุณไปรอด
สิ่งที่สำคัญและควรทำในการเป็นนายตัวเองนั้น คุณไม่สามารถหยุดทุกอย่างได้ตามใจตัวเอง แต่ต้องลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตนเองและรู้ขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน เริ่มตั้งแต่วิธีการติดต่อซัพพลายเออร์ การสั่งของ ทำบิล ศึกษาการตลาด การนับสต๊อกสินค้า หรือแม้กระทั่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการแล้ว คุณจะต้องรู้วิธีการจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างละเอียด ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
4. ตั้งราคาสินค้าอย่างเที่ยงธรรม
สมัยนี้ใคร ๆ ก็ชอบของดีมีคุณภาพในราคาที่ต้องจับต้องได้ เพราะฉะนั้นอย่าตั้งราคาสินค้าสูงเกินไปเมื่อเปิดร้านขายของ และก็ต้องไม่ตั้งราคาต่ำเกินไป จะได้ไม่เข้าเนื้อตัวเองจนขาดทุน ลองศึกษาตลาดและค้นหาราคาสินค้าโดยเฉลี่ย โดยเปรียบเทียบและคำนวณสินค้าลักษณะเดียวกันทั้งในทำเลใกล้ ๆ และราคาสินค้าออนไลน์ จากนั้นก็ตั้งราคาสินค้ากลาง ๆ ที่ใกล้เคียงเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าของคุณราคาสมเหตุสมผลกับคุณภาพ แล้วร้านค้าของคุณก็จะน่าสนใจในสายตาลูกค้ามากขึ้น
เช่น หากคิดจะเปิดร้านขายเสื้อผ้าหรือร้านขายของชำ ก็ดูว่าร้านอื่น ๆ ที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน ขายในราคาเท่าไหร่ หากมีค่าจัดส่ง ต้องคิดเพิ่มเท่าไหร่ หรือว่าต้องขายในลักษณะไหนถึงจะได้ใจลูกค้า เช่น ขายปลีก หรือขายส่ง เป็นต้น
5. ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
ภาพจาก Unsplash
ถ้าคุณสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าร้านค้าชั้นนำในห้างหรือแบรนด์ดังต่างก็ใช้ระบบPOS กัน นั่นก็เพราะว่าระบบที่ว่านี้เป็นซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมขายหน้าร้านอัจฉริยะที่ช่วยให้การซื้อ-ขายรวดเร็ว สะดวกสบาย และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
อย่างระบบ POS สโตร์ฮับก็เป็นขวัญใจของพ่อค้าแม่ค้าหลายคน คือคุณไม่ต้องมานั่งจำราคาหรือจดทุกอย่างด้วยมือ แค่เพิ่มสินค้าเข้าไปในระบบหลังบ้านก็ขายหน้าร้านและร้านค้าออนไลน์ได้ทันที อีกอย่างเมื่อมีการขายสินค้าไป ระบบ POS ก็จะตัดสต๊อกสินค้าโดยอัตโนมัติ หรือถ้าสต๊อกเหลือน้อย ระบบก็จะแจ้งเตือนทันที ไม่ต้องมาเสียเวลานับหรือพลาดโอกาสในการขายไป
เพราะฉะนั้นทำไมไม่ลองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดูล่ะ แล้วคุณจะจัดการร้านขายของได้อย่างลื่นไหลมากยิ่งขึ้น และลูกค้าก็จะได้ประสบการณ์การซื้อของดี ๆ จากร้านคุณแน่นอน !
6. เข้าถึงลูกค้าให้เป็น
ภาพจาก Freepik
การเข้าถึงลูกค้าให้เป็นนั้นเริ่มจากการบริการที่ยอดเยี่ยม เพราะหากคุณเอาใจใส่ลูกค้าตั้งแต่เดินเข้ามาในร้าน กล่าวทักทาย และคอยให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือ ลูกค้าก็จะประทับใจและอยากกลับมาซื้อของที่ร้านอีกแน่นอน และถ้าจะให้ดียิ่งกว่า ทางร้านควรมี Loyalty Program เป็นของตัวเอง โดยรูปแบบ Loyalty Program หรือโปรแกรมลูกค้าสมาชิกที่ได้รับความนิยมและถูกใจลูกค้ามากที่สุดก็คือ cashback คืนเงินลูกค้าทุกครั้งที่ซื้อของ เพื่อมอบแรงจูงใจให้ลูกค้ากลับมาใช้จ่ายด้วยยอดเงินคืนจากทางร้านในครั้งถัดไป
นอกจากนี้คุณยังเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ๆ อีกหลายช่องทาง เช่น การตกแต่งร้าน ใบปลิว ป้ายประกาศ และช่องทางโซเชียลให้ลูกค้าได้ติดตามสินค้าและบริการจากทางร้าน เท่านี้ร้านขายของของคุณก็จะดูน่าเชื่อถือ เป็นมืออาชีพ และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นแล้ว
สรุป
แม้ว่าค้าปลีกยุคใหม่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้ร้านค้าออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าเดิม แต่ว่าค้าปลีกออฟไลน์ก็ยังมีโอกาสเติบโตไม่แพ้ค้าปลีกออนไลน์ ดังนั้นการจะเปิดร้านขายของให้ดีมีกำไรในยุคนี้ ผู้ประกอบการจะต้องทำการบ้านให้หนักและลงมืออย่างจริงจัง รวมถึงรู้จักนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในร้าน และใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ที่สำคัญต้องให้บริการที่ดีที่สุดกับลูกค้าและรู้วิธีเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายด้วย แค่นี้คุณก็จะเปิดร้านขายของให้สำเร็จได้ง่าย ๆ แล้ว